หน้าเว็บ

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาษาไทย



ภาษาไทย

 
การประสมอักษร คือ การประกอบพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด ตัวการันต์ เพื่อให้ได้คำที่ต้องการ มี 4 ลักษณะดังนี้

1. การประสมอักษร 3 ส่วน ได้แก่การประสม พยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เช่น เล เล่ เล้

2. การประสมอักษร 4 ส่วน ได้แก่การประสม พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด เช่น เลย แล้ว

3. การประสมอักษร 4 ส่วนพิเศษ ได้แก่การประสม พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์และ ตัวการันต์ เช่น เลย์ เท่ห์

4. การประสมอักษร 5 ส่วน ได้แก่การประสมพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และตัวการันต์ เช่น ศักดิ์ ศิษย์


พยัญชนะต้น

พยัญชนะ คือ อักษรที่ใช้แทนเสียงแปร หรือเสียงที่เปล่งออกมากระทบฐานกรณ์ต่าง ๆ ในช่องปากหรือช่องจมูก แล้วแปรเปลี่ยนเป็นเสียง เช่น เสียง /ก/ /ค/ มีการปิดกักลมในช่องคอก่อนปล่อยลมออกมา เป็นต้น พยัญชนะมีทั้งรูปและเสียง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

พยัญชนะต้น คือพยัญชนะที่เป็นต้นเสียงของคำ อาจใช้พยัญชนะรูปเดียว เช่น กา ตี งู แล้ว บิน ไป หรือ อาจใช้พยัญชนะต้นสองรูปก็ได้ เช่น ปล่อย ปลา ไขว่ คว้า ครอบ ครอง เศร้า สร้อย


รูปและเสียงพยัญชนะ

พยัญชนะไทยมี 44 รูป แบ่งตามลักษณะของเสียงได้ 21 เสียง สัญลักษณ์แทนเสียงจะมีเครื่องหมาย /../ กำกับไว้ ในที่นี้ได้แสดงสัญลักษณ์แทนเสียงที่เป็นสากลไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ในการศึกษาระดับสูงต่อไป ดังนี้

รูปพยัญชนะทั้ง 44 รูป ยังแบ่งออกเป็น อักษร 3 หมู่ ดังนี้

1. อักษรกลาง ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ (ไก่ จิก เฎ็ก ฏาย เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง)

2. อักษรสูง ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห (ผี ฝาก ถุง ข้าว สาร ให้ ฉัน)

3. อักษรต่ำ แบ่งเป็นอักษรคู่ และอักษรเดี่ยว ดังนี้

อักษรคู่
ค ฅ ฆ มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ข ฃ
ช ฌ มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ฉ
มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ศ ษ ส
ฑ ฒ ท ธ มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ฐ ถ
พ ภ มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ผ
มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ฝ
มีเสียงคู่กับ อักษรสูง คือ ห

อักษรเดี่ยว ได้แก่ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล (งู ใหญ่ นอน อยู่ ณ ริม วัด โม ฬี โลก)

พยัญชนะทุกรูปเป็นพยัญชนะต้นได้ แต่เป็นตัวสะกดได้ไม่ครบทุกรูป และเป็นเสียงพยัญชนะท้ายหรือเสียงสะกดได้ไม่ครบทุกเสียง


มาตราตัวสะกด

ตัวสะกดเป็นพยัญชนะท้ายพยางค์ ทำให้เสียงท้ายพยางค์เปลี่ยนไปตามเสียงของมาตราสะกดต่าง ๆ โดยมีเสียงพยัญชนะที่เป็นเสียงตัวสะกดได้ 8 เสียง แต่รูปพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดได้มีหลายรูป ดังตารางต่อไปนี้




ข้อสังเกต เสียงตัวสะกดแม่กด ใช้เสียง /ต/ และเสียงตัวสะกดแม่กบ ใช้เสียง /ป/ เพราะเป็นเสียงไม่ก้อง

เสียง /ด/ และ /บ/ เป็นเสียงก้อง จึงเป็นเสียงสะกดหรือเสียงท้ายพยางค์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเสียงท้ายพยางค์อีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่เสียงตัวสะกด ได้แก่ เสียง /อ/ เป็นเสียงท้ายพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา (ใช้สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด) เช่น มะลิ กระบะ ทะลุ



ตัวการันต์


ตัวการันต์ คือตัวอักษรท้ายพยางค์ที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกำกับไว้เพื่อคงรากศัพท์ เช่น

จันทร์ (ทร เป็นตัวการันต์)

สิทธิ์ (ธิ เป็นตัวการันต์)

ศิษย์ (ย เป็นตัวการันต์)

ครองราชย์ (ย เป็นตัวการันต์)

โจทก์ (ก เป็นตัวการันต์ จากคำ โจทก์จำเลย)

โจทย์ (ย เป็นตัวการันต์ จากคำ โจทย์เลข)

รื่นรมย์ (ย เป็นตัวการันต์)

อารมณ์ (ณ เป็นตัวการันต์)

อานิสงส์ (ส เป็นตัวการันต์) เป็นต้น


รูปและเสียงสระ


สระ คือ อักษรที่ใช้แทนเสียงแท้ เป็นเสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอโดยตรง มี 21 รูป 32 เสียง (ปัจจุบันถือว่ามี 24 เสียง)






รูปสระเหล่านี้ นำไปประสมเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงสระต่าง ๆ เช่น พินทุ์อิ รวมกับ ฝนทอง เป็นเสียงสระ อี ไม้หน้า พินทุ์อิ ฟันหนู และตัว อ รวมกันเป็นเสียงสระ เอือ เป็นต้น

สระมี 3 ชนิด คือ สระแท้ สระประสมและสระเกิน โดยแบ่งเป็นสระเสียงสั้น และสระเสียงยาว ดังนี้





ปัจจุบันถือว่า สระเกินทั้ง 8 เสียงนี้ มีเสียงประสมระหว่างพยัญชนะกับสระเดี่ยวไม่ใช่เสียงสระโดยตรงดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเสียงสระในภาษาไทยมีเพียง 24 เสียง คือ เฉพาะข้อ 1 และ 2 เท่านั้น


วิธีใช้สระ


สระเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประสมอักษร ซึ่งมีวิธีการใช้แตกต่างกัน ดังนี้

1. สระคงรูป คือการเขียนสระตามรูปเดิมเมื่อประสมอักษร เช่น กะ เตะ โปะ เคาะ กอ กำ หัว เป็นต้น สระ -ะ, เ-ะ, โ-ะ … ในคำที่ยกมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเมื่อประสมอักษร

2. สระเปลี่ยนรูป คือ สระที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเมื่อประสมอักษร เช่น กับ ( ก + “ ะ ” + บ) เจ็บ (จ + “ เ-ะ ” + บ) เกิน (ก + “ เ-อ” + น ) เป็นต้น

3. สระลดรูป คือ สระที่เขียนลดรูปเมื่อประสมอักษร เช่น ณ (ณ + “ ะ ”) งก (ง + “ โ-ะ ” + ก)


การใช้สระ อะ อือ เอะ โอะ เอาะ ออ เออ อัว


สระอะ (-ะ ) ใช้ได้หลายแบบ เขียนคงรูป เช่น กะ นะ เปลี่ยนรูป เช่น กัด จัน หรือ เปลี่ยนรูป เป็น ร หัน เช่น วรรณ ขรรค์ และเขียนลดรูป เช่น ณ ธ ทนาย พนักงาน อนุชา

สระอือ ( - ื )เขียนคงรูป เช่น ปืน ยืม เมื่อไม่มีตัวสะกดจะเปลี่ยนรูป โดยเพิ่ม เช่น มือ ถือ ดื้อ

สระเอะ ( เ-ะ) เขียนคงรูป เช่น เตะ เฟะ เปะ เมื่อมีตัวสะกดจะเปลี่ยนรูป เช่น เจ็บ เล็บ เห็บ เป็นต้น

สระโอะ (โ-ะ) เขียนคงรูป เช่น โปะ โต๊ะ เขียนลดรูป เมื่อมีตัวสะกด เช่น งก หก รก คม ลง

สระเอาะ (เ-าะ) เขียนคงรูป เช่น เคาะ เจาะ เหาะ เปลี่ยนรูปเมื่อมีตัวสะกด เช่น ก็อก น็อค ม็อบ

สระออ (-อ) เขียนคงรูป เช่น กอ หอย ลอย ฝอย ลดรูป เมื่อสะกดด้วย เช่น ถาวร วงจร ลูกศร วานร พร

สระเออ (เ-อ) เขียนคงรูป เช่น บำเรอ เธอ อำเภอ ลดรูปเมื่อสะกดด้วย เช่น เนย เสย เตย เขยเปลี่ยนรูปเมื่อมีตัวสะกดอื่น ๆ เช่น เกิน เหิน เริง เลิก เลิศ เนิบ

สระอัว ( - ัว) เขียนคงรูป เช่น หัว มัว รัว เขียนลดรูป เมื่อมีตัวสะกด เช่น ลวด กวน นวด บวก





การใช้สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ


ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ พื้นเสียงมี ร,ล ประสมอยู่ แม้จะเขียนตามลำพังก็ออกเสียงเป็นพยางค์หนึ่งได้ คือ รึ รือ ลึ ลือ ถ้าประสมกับพยัญชนะต้นก็ออกเสียงอย่างอักษรควบ

ใช้โดด ๆ แปลว่า ไม่ , ใช้ขึ้นต้นพยางค์ก็ได้ เช่น ฤกษ์ ฤทธิ์ และใช้ประสมกับพยัญชนะต้นก็ได้ เช่น กฤษณะ ทฤษฎี

ฤๅ ฦ ฦๅ ออกเสียงคงที่ ฤๅ ใช้โดด ๆ แปลว่า ไม่ และใช้เขียนขึ้นต้นคำก็ได้ เช่น ฤๅษี ฤๅเดช ในภาษาไทยไม่มีใช้ ฦๅ มักพบในบทร้อยกรอง

ออกเสียงได้ 3 แบบ ดังนี้

1. ออกเสียง เรอ มีคำเดียว คือ ฤกษ์ (เริก)

2. ออกเสียง ริ เมื่ออยู่หน้าคำ ได้แก่ ฤทธิ์ (ริด) ฤทธา (ริด-ทา) ฤณ (ริน) ฤษยา (ริด-สะ-หยา) และเมื่อประสมกับ ก ต ท ป ศ ส (กระต่ายที่ปีนศาลสูง) เช่น กฤษณา (กริด-สะ-หนา) ตฤณ (ตริน) ทฤษฎี (ทริด-สะ-ดี) ปฤจฉา (ปริด-ฉา) เป็นต้น

3. ออกเสียง รึ เมื่อยู่หน้าคำ เช่น ฤคเวท (รึก-คะ-เวด) ฤดี (รึ-ดี) ฤต (รึด) เป็นต้น และเมื่อประสมกับ ค น พ ม ห ด (คืนนี้พี่มาหาได้) เช่น คฤหาสน์ (คะ-รึ-หาด) นฤมล (นะ-รึ-มน) มฤค (มะ-รึก) หฤทัย (หะ-รึ-ไท) ดฤถี (ดรึ-ถี)


ยกเว้น

มฤต อ่านว่า มะ-ริด , มะ-รึด อมฤต อ่าน อะ-มะ-ริด , อะ-มะ-รึด

พฤนท์ อ่าน พรึน , พริน นฤตย์ อ่าน นะ-ริด


การใช้สระใอ
ใช้เขียนคำไทย 20 คำ ดังนี้

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส

ใครใคร่และยองใย อันใดใช้อย่าหลงใหล

ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้แลใหญ่ยง

ใกล้ใบแลใช่จง (ใช้)(ให้)คงคำบังคับ

(ปฐมมาลา)

คำที่ควรจำคือ หมาใน เหล็กใน เยื่อใย ใยบัว ใยแมงมุม


การใช้สระไอ
ใช้เขียนดังนี้

1. คำไทยที่มีเสียงไอ นอกเหนือจากคำที่ใช้สระ ใอ 20 คำ เช่น ไฉไล ไป ไกล ไหม ลำไย จุดไต้

2. คำสันสกฤตเดิมที่มีสระไออยู่แล้ว เช่น ไกรพ ไพฑูรย์ ไมตรี ไพชยนต์

3. คำบาลีสันสกฤตที่แผลง อิ อี เอ เป็น ไอ เช่น วิจิตร - ไพจิตร ตรี - ไตร

4. คำที่มาจากภาษาอื่นที่ออกเสียงไอ เช่น ซามูไร ไซเรน ไต้ก๋ง ไต้หวัน


การใช้อัย
ใช้เขียนคำบาลีสันสกฤตที่มีเสียงอะ มี ย ตาม เช่น ชย - ชัย วินย - วินัย อุทย - อุทัย


การใช้ไอย
ใช้เขียนตามความนิยมของไทยมาแต่เดิม เช่น ไมยราบ ไอยคุปต์ ไอยรา และใช้เขียนคำบาลีสันสกฤตที่ใช้สระเอ มี ย สะกด และ ย ตาม เช่น คงเคยย - คงไคย เทยยทาน - ไทยทาน อธิปเตยย - อธิปไตย


คำเป็น คำตาย

การประสมอักษรจะเกิดเป็นพยางค์หรือคำ ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ คำเป็น และคำตาย ซึ่งมีลักษณะดังนี้

คำเป็น คือ คำที่ออกเสียงได้สะดวก ลากเสียงให้ยาว ๆ ได้ ได้แก่

1. คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว ในแม่ ก. กา เช่น มา ลี ตี ปู นา

2. คำที่มีตัวสะกดในมาตรา กง กน กม เกย เกอว

3. คำยกเว้น ได้แก่คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น อำ ไอ ใอ เอา ถือว่าเป็นคำเป็นเพราะเหมือนมีตัวสะกด ในมาตรา กม เกย เกอว

คำตาย คือ คำที่ออกเสียงได้ไม่สะดวก ต้องมีการปิดกั้นเสียงท้ายพยางค์ มีลักษณะดังนี้

1. คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก. กา ยกเว้น อำ ไอ ใอ เอา เช่น มะ ลิ จะ ปะ กระ ทะ ผุ

2. คำที่มีตัวสะกด ในมาตรา กก กด กบ เช่น อยาก โดด ตบ


วรรณยุกต์

วรรณยุกต์มี 4 รูปได้แก่ ่ (ไม้เอก) ้ (ไม้โท) ๊ (ไม้ตรี) ๋ (ไม้จัตวา) เสียงวรรณยุกต์มี 5 เสียง ได้แก่ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา คำทุกคำในภาษาไทยล้วนมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งสิ้นไม่ว่าคำนั้นจะมีรูปวรรณยุกต์หรือไม่ วรรณยุกต์ช่วยเพิ่มคำในภาษาไทยและช่วยทำให้คำมีความหมายมากขึ้น วรรณยุกต์จึงเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทย และแสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางภาษาของบรรพบุรุษไทยด้วย ดังนั้น นักเรียนจึงควรสนใจ ให้ความสำคัญและช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ทางภาษาไทยนี้ไว้ ด้วยการใช้วรรณยุกต์ให้ถูกต้องทั้งการเขียนและการออกเสียงคำ โดยพยายามใส่ใจศึกษากฎเกณฑ์ของการผันเสียงวรรณยุกต์ให้เข้าใจ



การผันวรรณยุกต์

ความผิดพลาด ในการผันวรรณยุกต์ที่พบมากในปัจจุบันก็คือ ออกเสียงวรรณยุกต์ ตามรูปวรรณยุกต์ที่ปรากฏ ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก คำในภาษาไทยนั้นอาจจะมีรูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับพยัญชนะต้นว่าเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำและเป็นคำเป็นหรือคำตาย นักเรียนควรทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้เข้าใจก่อนที่จะศึกษาหลักการผันเสียงวรรณยุกต์


หลักการผันเสียงวรรณยุกต์


คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ครบ 4 รูป 5 เสียง รูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน เช่น อา อ่า อ้า อ๊า อ๋า พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้ตรีเป็นเสียงตรี และผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา

2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 3 รูป 4 เสียง เริ่มด้วยเสียงเอก เช่น อะ อ้ะ อ๊ะ อ๋ะ คำ “อะ” เสียงเอกไม่มีรูปวรรณยุกต์


คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง ขัน ขั่น ขั้น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท

2. คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 1 รูป 2 เสียง ขะ ข้ะ พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โท เป็นเสียงโท


คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้

1. คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง คาน ค่าน ค้าน พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี

2. คำตาย สระเสียงยาว ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คาด ค้าด ค๋าด พื้นเสียงเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้จัตวา เป็นเสียงจัตวา

3. คำตาย สระเสียงสั้น ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คะ ค่ะ ค๋ะ พื้นเสียงเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้เอกเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา

4. อักษรคู่ ถ้าผันเสียงคู่กับอักษรสูงจะสามารถผันได้ครบ 5 เสียง เช่น คา ข่า ค่า-ข้า ค้า ขา

5. อักษรเดี่ยว เมื่อมี “ห” หรืออักษรสูง หรืออักษรกลางมานำจะผันเสียงได้ตามอักษรที่นำ เช่น หนา หน่า หน้า หรือคำว่า “ตลาด” จะอ่านว่า “ตะ-หลาด” ไม่ใช่ “ตะ-ลาด” เป็นต้น

โปรดสังเกตตาราง การผันวรรณยุกต์ ต่อไปนี้




จากตารางการผันวรรณยุกต์ จะพบว่า

1. คำที่มี พยัญชนะต้น เป็นอักษรกลางและเป็นคำเป็น จะผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง และรูปวรรณยุกต์กับเสียงวรรณยุกต์ตรงกันมากที่สุด

2. คำที่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ มีเพียงคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำคำเป็นเท่านั้น

3. คำที่มีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวานั้น มีเฉพาะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง และ นำ อักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยวคำเป็นเท่านั้น

4. คำที่มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันเลย ได้แก่คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ คำตายเท่านั้น

5. คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตาย ระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียง ยาว จะผันเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ยกเว้นเสียงจัตวา

6. คำที่ผันเสียงวรรณยุกต์ได้น้อยที่สุด คือ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงหรือ นำอักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยว คำตาย


นักเรียนสามารถนำตารางนี้ไปใช้ในการเทียบเสียงวรรณยุกต์ได้ โดยวิเคราะห์คำที่ต้องการทราบเสียงวรรณยุกต์ว่ามีพยัญชนะต้นเป็นอักษรชนิดใด คำนั้นเป็นคำเป็นหรือคำตาย ใช้สระเสียงสั้นหรือเสียงยาว และมีรูปวรรณยุกต์อะไร ต่อจากนั้นนำไปเทียบกับคำในตารางก็จะทราบได้ว่าคำนั้นมีเสียงวรรณยุกต์ใด ซึ่งหากนักเรียนฝึกเทียบเสียงคำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญและสามารถวิเคราะห์ได้โดยไม่ต้องใช้ตาราง


การเทียบเสียงวรรณยุกต์ของคำ อาจใช้วิธีเทียบกับอักษรกลาง หรือใช้เสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง “อ” ก็ได้ เช่น

นักเรียนต้องการทราบว่า “ร้อง” มีเสียงวรรณยุกต์ใด ก็เทียบกับคำเสียง “อ” ได้แก่ ออง อ่อง อ้อง อ๊อง อ๋อง จะพบว่า “ร้อง” เสียงเท่ากับ “อ๊อง” ซึ่งเป็นเสียงตรี (อักษรกลาง คำเป็นผันด้วยไม้ตรี เป็นเสียงตรี) จึงบอกได้ว่า “ร้อง” มีเสียงวรรณยุกต์ตรี เป็นต้น

แต่ข้อสำคัญ ผู้เรียนต้องออกเสียงคำคำนั้นอย่างถูกต้องด้วยจึงจะวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ได้ มิฉะนั้น ผู้เรียนก็จะต้องกลับไปทบทวนตารางผันวรรณยุกต์ให้เข้าใจ ว่าคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ และเป็นคำเป็น หรือคำตายนั้น มีพื้นเสียงเป็น เสียงอะไร ผันด้วยวรรณยุกต์อะไร เป็นเสียงอะไร ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอักษรไตรยางศ์และเรื่องคำเป็น คำตายเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์
 
แหล่งที่มา  http://www.ccscat.ac.th/elearning/thai/thai1.html


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น